นายยอดพล วิชญกุล
นายด่านศุลกากรตากใบ

รายงานสถิติและข่าวสาร


ประกาศกรม/กระทรวง

สถิติการเข้าชมเว็บ

  • 57 เข้าชมวันนี้
  • 1,013 เข้าชมเดือนนี้
  • 31,785 เข้าชมทั้งหมด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
ด่านศุลกากรตากใบ เลขที่ 725 หมู่ที่ 1 ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส 96110
โทรศัพท์. 0-7364-2293 งานธุรการ กด 1 งานบริการศุลกากร กด 2 งานพรมแดน กด 3 งานคดี กด 4

พิธีการศุลกากรนำเข้า-ส่งออก สินค้าเร่งด่วน

พิธีการศุลกากรนำเข้า-ส่งออก สินค้าเร่งด่วน

การแข่งขันทางการค้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ความเร็วในการขนส่งจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ซึ่งการขนส่ง และการผ่านพิธีการศุลกากร ในรูปแบบปกติ ไม่สามารถสนองตอบความต้องการดังกล่าวได้ ดังนั้น กรมศุลกากรจึงพัฒนากระบวนการผ่านพิธีการศุลกากรสำหรับของเร่งด่วนขึ้น เพื่อให้ของขนาดเล็กจำนวนมากซึ่งดำเนินการโดยผู้ประกอบการของเร่งด่วนสามารถขนส่งและผ่านพิธีการศุลกากรได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และกรมศุลกากรได้มีประกาศกรมศุลกากรที่ 68 / 2551 เรื่อง พิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสารว่าด้วยกระบวนการทางศุลกากรเกี่ยวกับของเร่งด่วน สำหรับการผ่านพิธีการศุลกากร และการตรวจปล่อยสินค้า สามารถดำเนินการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการควบคุมทางศุลกากรที่เหมาะสม

          ตามที่ได้มีประกาศกรมศุลกากรที่ 68 / 2551 กรมศุลกากร ได้อนุญาตให้มีการผ่านพิธีการศุลกากร และการตรวจปล่อยสินค้า สำหรับทุกชนิดสินค้า ตามเงื่อนไข และข้อบังคับที่กรมฯกำหนด และข้อมูลที่จำเป็นตามข้อบังคับทางกฎหมายได้ถูกส่งผ่านมาก่อนที่ของนั้นจะถูกนำเข้า/ส่งออก ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์

          อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากร ยังมีสิทธิ์ที่จะดำเนินการตรวจสอบและสุ่มตรวจ ตามหลักการบริหารความเสี่ยง และอาจให้ผู้ประกอบการอำนวยความสะดวกสำหรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ศุลกากรด้วย และการอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการเกี่ยวกับของเร่งด่วนนั้น กรมศุลกากรพิจารณาจากความน่าเชื่อถือประกอบกับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่ระบุไว้

ผู้ประกอบการของเร่งด่วน
                คุณสมบัติในการสมัครเป็นผู้ประกอบการของเร่งด่วน
                ผู้สมัครเป็นผู้ประกอบการของเร่งด่วน จะต้องมีคุณสมบัติและเงื่อนไขตามที่กรมศุลกากรกำหนด ดังนี้
                        1.    ต้องเป็นนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท
                        2.    ต้องมีผู้ชำนาญการที่ได้รับการสอบจากกรมศุลกากรตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กรมศุลกากรกำหนด อย่างน้อย 1 คน
                        3.    ต้องไม่มีประวัติการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากร หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยให้ตรวจสอบประวัติย้อนหลัง 2 ปี นับแต่วันยื่นคำร้องขอ เว้นแต่เป็นกรณีความผิดเล็กน้อย หรือความผิดที่ศุลกากรเห็นควรให้ได้รับการผ่อนผัน

                หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการเป็นผู้ประกอบการของเร่งด่วน
                กรมศุลกากร จะพิจารณาอนุญาตการเป็นผู้ประกอบการพัสดุเร่งด่วน จากการที่ผู้สมัครสามารถแสดงให้เห็นว่า จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้ ซึ่งมี ดังนี้
                        1.    ต้องมีความพร้อมในการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแจ้งรายละเอียดของของล่วงหน้าก่อนของมาถึง ตามมาตรฐานและเวลาที่กรมศุลกากรกำหนด
                        2.    ต้องสามารถคัดแยกของและปฏิบัติตามหลักการบริหารความเสี่ยงในการเลือกตรวจ
                        3.    ต้องมีความพร้อมในการผ่านพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสารในระบบพิธีการศุลกากรของเร่งด่วน ตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด
                        4.    ต้องวางหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคาร หรือหลักทรัพย์อื่นใดที่กรมศุลกากรเห็นชอบเพื่อเป็นประกันทัณฑ์บนในวงเงินไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท

ผู้สมัครซึ่งมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว สามารถยื่นคำร้องขอเป็นผู้ประกอบการของเร่งด่วนรับอนุญาต ได้ที่ 
ฝ่ายจดทะเบียนและสิทธิประโยชน์ สำนักมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร โทร. 02-667-7983 , 02-667-7802 ถึง 3

***สำหรับผู้ประกอบการของเร่งด่วนที่สนใจโปรดทราบด้วยว่า การพิจารณาอนุญาตนั้น จะมีขั้นตอนการทดสอบจริงในการจัดทำ และส่งผ่านข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์มายังระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรด้วย

               ของมูลค่าต่ำ
กรมศุลกากร กำหนดราคาขั้นต่ำของของ ที่ไม่มีอากรขาเข้า หรือภาระภาษีอื่นๆ เรียกว่า ?ของมูลค่าต่ำ? อันได้แก่ ของที่นำเข้าโดยทางไปรษณีย์ หรือของเร่งด่วน ซึ่งแต่ละหีบห่อมีราคา FOB ไม่เกิน 1,000 บาท เพื่อให้การตรวจปล่อยสินค้าเป็นไปอย่างรวดเร็ว และลดทอนปัญหาปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นจากการเรียกเก็บอากรจำนวนเล็กน้อยจากของมูลค่าต่ำ

ประเภทของของเร่งด่วน
                การจัดประเภทของเร่งด่วนขาเข้า
                เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของกรมศุลกากร และเพิ่มความเร็วในการตรวจปล่อย ให้จัดแบ่ง ของเร่งด่วนขาเข้า ออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
                1.    ประเภทที่ 1    เอกสารต่างๆที่ไม่ต้องชำระอากร ตามภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด
                2.    ประเภทที่ 2    ของที่ไม่ต้องชำระอากร หรือได้รับยกเว้นอากร โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
                        2.1.    ของที่ไม่ต้องชำระอากร ตามภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด
                        2.2.    ของที่นำเข้าทางสนามบินศุลกากร ซึ่งแต่ละรายมีราคาไม่เกิน 1,000 บาท ที่ได้รับยกเว้นอากร ตามภาค 4 ประเภท 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด
                        2.3.    ตัวอย่างสินค้าที่ใช้ได้แต่เพียงเป็นตัวอย่าง และไม่มีราคาในทางการค้า ที่ได้รับยกเว้นอากร ตามภาค 4 ประเภท 14 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด
                3.    ประเภทที่ 3    ของที่ต้องชำระอากร นำเข้าทางสนามบินศุลกากร โดยแต่ละใบตราส่งสินค้าทางอากาศยาน มีราคา FOB ไม่เกิน 40,000 บาท และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด หรือของที่ต้องส่งตัวอย่างวิเคราะห์สินค้าก่อนปล่อย
                4.    ประเภทที่ 4    ของอื่นๆ นอกจากของตามประเภทที่ 1 ประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3

        การจัดประเภทของเร่งด่วนขาออก
        เช่นเดียวกับของเร่งด่วนขาเข้า ของเร่งด่วนขาออกมีการจัดแบ่งเพื่อเพิ่มความเร็วในการตรวจปล่อย โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
                1.    ประเภทที่ 1 ได้แก่
                        1.1.    ของที่ไม่ต้องชำระอากร หรือได้รับยกเว้นอากรตามภาค 3 พิกัดอัตราอากรขาออก แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ซึ่งมีราคาตามบัญชีราคาสินค้าไม่เกินฉบับละ 500,000 บาท
                        1.2.    ของที่ไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด
                        1.3.    ของที่ไม่ขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร กรณีเขตปลอดอากร หรือคลังสินค้าทัณฑ์บน ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 หรือการคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 หรือเขตประกอบการเสรี ตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2550
                        1.4.    ของที่ไม่ขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีอากรอื่นๆ เช่นการใช้สิทธิคืนอากรทั่วไปตาม พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 การใช้สิทธิส่งของกลับตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9)  พ.ศ.2482 การใช้สิทธิชดเชยค่าภาษีอากร ตามพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรส่งออก ที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ.2524 การใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 เป็นต้น
                        1.5.    ของที่ไม่ขอใช้สิทธิยกเว้นอากร ตามภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530
        2.    ประเภทที่ 2    ของอื่นๆ นอกจากของตามประเภทที่ 1 ให้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรส่งออกทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสารต่อไป

 

พิธีการศุลกากรนำเข้าของเร่งด่วน
การผ่านพิธีการศุลกากร ทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจลดต่ำลงมาก กรมศุลกากรได้ผลักดันให้มีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้งาน โดยส่งข้อมูลผ่านทางระบบ ebXML (electronic business using eXtensible Markup Language) เป็นครั้งแรกเมื่อ 1 มกราคม 2550 ซึ่งผู้นำของเข้า/ส่งของออก ตัวแทนออกของ และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ก็ตอบรับการปฏิรูปในครั้งนี้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม เมื่อมูลค่าการค้าขายผ่านทางระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เติบโตขึ้น การขนส่งสินค้าผ่านทางบริการรับ-ส่ง ของเร่งด่วนจึงมีปริมาณงานมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ท้าทายความสามารถในการผ่านพิธีการศุลกากรและการออกของ สำหรับของเร่งด่วน ในการตอบสนองความต้องการดังกล่าว จึงมีการริเริ่มระบบการตรวจปล่อยของเร่งด่วนขาเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การศุลกากร และการพาณิชยกรรม สามารถดำเนินการได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นและเพื่อเป็นการรองรับปริมาณของที่จะมีมากขึ้นในอนาคต
ในระหว่างนี้ กรมศุลกากร ได้ผ่อนปรนพิธีการศุลกากรสำหรับของเร่งด่วนขาเข้า โดยก่อนเครื่องบินจะมาถึง ข้อมูลบัญชีสินค้าทางอากาศยานสามารถส่งผ่านจากสำนักงานในต่างประเทศ มายังประเทศปลายทาง ซึ่งผู้ประกอบการสามารถส่งข้อมูลดังกล่าวมาที่ศุลกากรด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ และเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะตรวจสอบบัญชีสินค้าทางอากาศยาน และคัดแยกรายการสินค้าที่ต้องการจะตรวจสอบได้ล่วงหน้า โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาดังนี้
                1.    ราคา FOB ของของต่ำกว่า 40,000 บาท หรือไม่ หากราคาต่ำกว่า รายการนั้นก็ไม่ต้องผ่านกระบวนการศุลกากรเต็มรูปแบบ
                2.    ราคา FOB ของของสูงกว่า 40,000 บาท หรือไม่ หากราคาสูงกว่า รายการนั้นจำเป็นต้องผ่านกระบวนการทางศุลกากรเต็มรูปแบบ

พิธีการศุลกากรส่งออกของเร่งด่วน
พิธีการศุลกากรส่งออกของเร่งด่วนในปัจจุบัน ได้มีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ ในระบบ e-Express การผ่านพิธีการศุลกากรส่งออกสำหรับของเร่งด่วนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ขั้นตอน คือ ก่อนการส่งออก และหลังการส่งออก

              พิธีการศุลกากร ก่อนการส่งออก
เมื่อข้อมูลใบขนสินค้าขาออก ได้ถูกส่งมายังระบบคอมพิวเตอร์ศุลกากรแล้ว ระบบฯจะทำการตรวจสอบ เช่นเดียวกับระบบ e-Export คือตรวจสอบ วันที่ส่งออก จับคู่กับข้อมูลอ้างอิง สถานการณ์ตรวจปล่อย ฯลฯ โดยทั่วไป การผ่านพิธีการส่งออก มี 3 ขั้นตอน คือ
                1.    การจัดทำข้อมูล ?ข้อมูลรายงานบัญชีสินค้าของเร่งด่วนขาออกล่วงหน้า?  โดยผู้ประกอบการของเร่งด่วนจะจัดทำ ?ข้อมูลรายงานบัญชีสินค้าของเร่งด่วนขาออกล่วงหน้า? และส่งข้อมูลเข้ามาในระบบ e-Express  อย่างน้อย 2 ชม. ก่อนส่งออก
                2.    ตรวจสอบรับรอง ขั้นตอนที่ 2 จะเป็นการตรวจสอบและรับรองข้อมูลรายงานบัญชีสินค้าเร่งด่วนขาออกล่วงหน้า ที่ส่งมาจากผู้ประกอบการ ทันทีที่ระบบ e-Express  ได้รับข้อมูล  จะทำการรับรองอัตโนมัติ หากไม่มีข้อมูลผิดพลาด ระบบฯจะมีข้อความตอบกลับ ?Outbound Express Consignment Receipt Number? แต่หากมีข้อมูลผิดพลาด ระบบฯจะแจ้งข้อความผิดพลาดกลับไปยังผู้ประกอบการ
?ข้อมูลรายงานบัญชีสินค้าของเร่งด่วนขาออกล่วงหน้า? ดังกล่าวจะนำไปผ่านกระบวนการตรวจคัดของเร่งด่วนขาออก เพื่อการตรวจสอบของนั้น โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร ตามหลักการบริหารความเสี่ยง ซึ่งจะแบ่งออกเป็น เปิดตรวจ (ตรวจสอบของทางกายภาพ) และยกเว้นการตรวจ โดยจะส่งข้อความตอบกลับไปยังผู้ประกอบการของเร่งด่วนโดยอัตโนมัติ ภายใน 30 นาที
                3.    การตรวจสอบและการรับบรรทุก ขั้นตอนที่สาม  จัดทำคำร้องขอส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรโดยรีบด่วน ทางอิเล็กทรอนิกส์มายังระบบ e-Express  ระบบฯ จะทำการตรวจสอบหากไม่มีข้อมูลผิดพลาด ระบบฯจะมีข้อความตอบกลับ ?Request for Express Exportation? แต่หากมีข้อมูลผิดพลาด ระบบฯจะแจ้งข้อความผิดพลาดกลับไปยังผู้ประกอบการ

ผู้ประกอบการของเร่งด่วนจะนำของเร่งด่วนเข้าคลังสินค้าเพื่อคัดแยกของ  โดยของเร่งด่วนที่สั่งการให้เปิดตรวจ (Red Line) เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะดำเนินการเปิดตรวจ และบันทึกการตรวจ แล้วนำของไปรับบรรทุกขึ้นเครื่องบินต่อไป

               พิธีการศุลกากร หลังการส่งออก
                1.    ส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกเร่งด่วน ผู้ประกอบการของเร่งด่วนสามารถจัดทำข้อมูลใบขนสินค้าขาออกเร่งด่วน และส่งข้อมูลมายังระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรได้ภายใน  24 ชม. หลังการส่งออก
                2.    ตรวจสอบและยืนยัน ขั้นที่สองคือการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลใบขนสินค้าขาออก โดยผู้ประกอบการ ทันทีที่ระบบฯได้รับข้อมูลใบขนสินค้าขาออกเร่งด่วน จะทำการตรวจสอบกับแฟ้มข้อมูลอ้างอิง หากไม่มีข้อผิดพลาดระบบฯจะตอบกลับเลขที่ใบขนสินค้าขาออกเร่งด่วนไปยังผู้ประกอบการ หากพบข้อผิดพลาด ระบบจะตอบกลับข้อความที่ผิดพลาดเช่นกัน
                3.    การจัดเตรียมข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้า ขั้นตอนที่ 3 เป็นการจัดทำข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้า ทันทีที่ระบบฯได้รับข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้า จะทำการตรวจสอบกับข้อมูลใบขนสินค้าขาออกเร่งด่วน หากไม่มีข้อผิดพลาดระบบฯจะตอบกลับเลขที่ใบกำกับการขนย้ายสินค้า หากพบข้อผิดพลาด ระบบจะตอบกลับข้อความที่ผิดพลาดเช่นกัน

ผู้ประกอบการของเร่งด่วนจะสั่งพิมพ์ ใบกำกับการขนย้ายสินค้า พร้อมเลขที่รับนั้น และติดต่อหน่วยบริการศุลกากร เพื่อรับบรรทุกในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร และระบบฯจะมีข้อความตอบกลับไปยังผู้ประกอบการอีกครั้ง โดยอัตโนมัติ

 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 25 มกราคม 2561 10:54:38
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ด่านศุลกากรตากใบ
เลขที่ 725 หมู่ที่ 1 ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส 96110
หมายเลขโทรศัพท์ : 0-7364-2293
อีเมล์ : 75190000@customs.go.th

ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ ของด่านศุลกากรตากใบ - สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4
ลิขสิทธิ์ 2015 ด่านศุลกากรตากใบ สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนประมวลผลและคลังข้อมูล สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลการ